EFคืออะไร!!ทำไมนี้นักวิชาการระดับโลกชี้ว่า สำคัญกว่า IQ

EFคืออะไร!!ทำไมนี้นักวิชาการระดับโลกชี้ว่า สำคัญกว่า IQ

 

ทักษะ EF คือ กระบวนการทางความคิดในสมองส่วนหน้า ที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก การกระทำ เป็นความสามารถของสมองที่ใช้บริหารจัดการในชีวิตเรื่องต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้สามารถตั้งเป้าหมายในชีวิต รู้จักวางแผน มีความมุ่งมั่น จดจำสิ่งต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งรู้จักริเริ่มลงมือทำสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นตอน


EF สำคัญอย่างไร

ฐานของทักษะEF ที่แข็งแกร่งมีความสำคัญยิ่งกว่าการรู้จักตัวเลขหรือตัวหนังสือ เมื่อเด็กได้รับโอกาสพัฒนา EF ทั้งตัวเด็กเองและสังคมได้รับประโยชน์ จะช่วยสร้างพฤติกรรมเชิงบวกและเลือกตัดสินใจในทางที่สร้างสรรค์ต่อตัวเอง และครอบครัว หากเด็กมีทักษะ EFs เขาจะมีความสามารถในการคิด


  • มีความจำดี มีสมาธิจดจ่อสามารถทำงานต่อเนื่องได้จนเสร็จ
  •  รู้จักการวิเคราะห์ มีการวางแผนงานอย่างเป็นระบบ ลงมือทำงานได้ และจัดการกับกระบวนการทำงาน จนเสร็จทันตามกำหนด
  •  นำสิ่งที่เคยเรียนรู้มาก่อนในประสบการณ์มาใช้ในการทำงานหรือกิจกรรมใหม่ได้
  • สามารถปรับเปลี่ยนความคิดได้ เมื่อเงื่อนไขหรือสถานการณ์เปลี่ยนไป ไม่ยึดติดตายตัว จนถึงขั้นมีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบได้
  •  รู้จักประเมินตนเอง นำจุดบกพร่องมาปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นได้ 
  •  รู้จักยับยั้งควบคุมตนเองไม่ให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมแม้จะมีสิ่งยั่วยวน
  •  รู้จักแสดงออกในครอบครัวในห้องเรียน กับเพื่อน หรือในสังคมอย่างเหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่การรู้จักเคารพผู้อื่น อยู่กับคนอื่นได้ดี ไม่มีปัญหา
  • เป็นคนที่อดทนได้ รอคอยเป็น มีความมุ่งมั่นพร้อมความรับผิดชอบที่จะไปสู่ความสำเร็จ

 


"เด็กแบบนี้อย่างนี้มิใช่หรือ ที่พ่อแม่ ครู และสังคมต้องการ เด็กอย่าง นี้มิใช่หรือ ที่จะนำพาสังคมและประเทศชาติให้อยู่รอดได้ในโลกที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เด็กอย่างนี้มิใช่หรือที่จะไม่สร้างปัญหายาเสพติดให้พ่อแม่ ครอบครัวและสังคมให้ยุ่งยากเดือดร้อนต่อไป "



สำหรับกลุ่มทักษะ EF ที่สำคัญมีทั้งหมด 9 ด้าน

 

1.ทักษะความจำที่นำมาใช้งาน (Working Memory) คือทักษะจำหรือเก็บข้อมูลจากประสบการณ์ที่ผ่านมา และดึงมาใช้ประโยชน์ตามสถานการณ์ที่พบเจอ เด็กที่มี Working Memory ดี IQ ก็จะดีด้วย


2.ทักษะการยับยั้งชั่งใจ-คิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control) คือความสามารถในการควบคุมความต้องการของตนเองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เด็กที่ขาดความยับยั้งชั่งใจจะเหมือน “รถที่ขาดเบรก” อาจทำสิ่งใดโดยไม่คิด มีปฏิกิริยาในทางที่ก่อให้เกิดปัญหาได้


3.ทักษะการยืดหยุ่นความคิด (Shift Cognitive Flexibility) คือความสามารถในการยืดหยุ่นหรือปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ไม่ยึดตายตัว


4.ทักษะการใส่ใจจดจ่อ (Focus) คือความสามารถในการใส่ใจจดจ่อ มุ่งความสนใจอยู่กับสิ่งที่ทำอย่าง ต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่ง


5.การควบคุมอารมณ์ (Emotion Control) คือ ความสามารถในการควบคุมแสดงออกทางอารมณ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เด็กที่ควบคุมอารมณ์ตัวเอง ไม่ได้ มักเป็นคนโกรธเกรี้ยว ฉุนเฉียว และอาจมีอาการซึมเศร้า


6.การประเมินตัวเอง (Self-Monitoring) คือการสะท้อนการกระทำของตนเอง รู้จักตนเอง รวมถึงการประเมินการงานเพื่อหาข้อบกพร่อง


7.การริเริ่มและลงมือทำ (Initiating) คือ ความสามารถในการริเริ่มและลงมือทำตามที่คิด ไม่กลัวความล้มเหลว ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง


8.การวางแผนและการจัดระบบดำเนินการ (Planning and Organizing) คือทักษะการทำงาน ตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย การวางแผน การมองเห็นภาพรวม ซึ่งเด็กที่ขาดทักษะนี้จะวางแผนไม่เป็น ทำให้งานมีปัญหา


9.การมุ่งเป้าหมาย (Goal-Directed Persistence) คือ ความพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย เมื่อตั้งใจและลงมือทำสิ่งใดแล้ว ก็มีความมุ่งมั่นอดทน ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆ ก็พร้อมฝ่าฟันให้สำเร็จ


"มีงานวิจัยมากมาย ระบุว่าเด็กที่มี EF ดี จะมีความพร้อมทางการเรียนมากกว่า และประสบความสำเร็จในด้านการเรียนทุกระดับ จนกระทั่งในการทำงาน ช่วยวัย 3 – 6 ชวบจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะ EF"


เทคนิคในการสร้าง EF นั้น เริ่มจากการเลือกของเล่นให้ลูกเล่น ทำให้เขาคิดอย่างสร้างสรรค์ ตัวอย่างของเล่น อาทิเช่น

  • ตัวต่อบล็อกไม้
  • เลโก้
  • หมากฮอส
  • หมากรุก
  • จิ๊กซอว์ แบบง่าย ๆ

ของเล่นสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และมีรูให้หลอดลงในช่อง

ของเล่นเหล่านี้ เป็นการพัฒนาความคิดของเด็ก หรือแม้แต่การทำงานบ้าน อาจจะเตรียมผ้าแห้งเขาเขาเล่นเช็ดตู้ เช็ดพื้น หรือไม้กวาดให้เขาได้กวาดบ้าน เป็นการฝึกความรับผิดชอบ รวมถึง การอ่านหนังสือให้ฟังทุกคืน ยิ่งพ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังมากเท่าไหร่ เด็กก็จะมีทักษะเรื่องการอ่าน (รวมถึงรักการอ่านด้วย) รวมถึงการเขียน ฝึกให้มีเชาวน์ปัญญาดี


อีกเทคนิคคือ ไม่ให้เด็กเครียด คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างสภาวะแวดล้อมที่ไม่กดดัน สร้างความเป็นมิตร เมื่อเด็กน้อยรู้สึก Happy ก็จะรู้สึกสบายใจ และเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการเล่นของเล่นที่บ้าน เกิดความกล้าคิดกล้าทำในสิ่งต่าง ๆ

(ข้อมูลอ้างอิง www.thaihealth.or.th / www.rhlhub.com )

บทความที่เกี่ยวข้อง